“กรมศิลป์” ชี้รื้ออาคารในวัดยานนาวา ไม่ใช่โบราณสถาน

อธิบดีกรมศิลปากร เผยผลตรวจสอบการรื้ออาคารมูลนิธิน้ำใจไทย-ญี่ปุ่น ในวัดยานนาวา ไม่ใช่โบราณสถานที่ถูกขึ้นทะเบียนในปี 2526 ซึ่งมีเพียงพระแท่นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เรือสำเภาและเจดีย์ พร้อมด้วยแผ่นศิลาจารึก 3 แผ่น พระอุโบสถ และเก๋งจีน

วันนี้ (8 มี.ค.2564) นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า ตามที่สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยได้กล่าวถึงกรณีการรื้ออาคารภายในวัดยานนาวา เขตสาธร กรุงเทพมหานคร ว่าเป็นการรื้อทำลายโบราณสถาน ทางกองโบราณคดี ได้ตรวจสอบรายละเอียดแล้ว พบว่าอาคารที่ถูกรื้อลงตามที่เป็นข่าวนั้น คืออาคารมูลนิธิน้ำใจไทย-ญี่ปุ่น เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก เมื่อพิจารณาจากแผนที่โบราณพ.ศ.2439 ตำแหน่งนี้เป็นพื้นที่ว่างเปล่าไม่มีสิ่งก่อสร้างต่อมาปีพ.ศ. 2475 มีเป็นกุฏิแบบเรือนไม้ชั้นเดียว

จนกระทั่งปี พ.ศ.2486 ภาพถ่ายทางอากาศชุดวิลเลียม ฮันท์ ปรากฏอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กในตำแหน่งดังกล่าว จากหลักฐานแผนที่และภาพถ่าย จึงสามารถระบุระยะเวลาก่อสร้างอาคารได้ระหว่างปี พ.ศ. 2475-2486 โดยสันนิษฐานว่ามีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบอาคารในช่วง พ.ศ.2510 ก่อนจะถูกรื้อลงในปัจจุบัน

กรมศิลปากรได้พิจารณาอายุการสร้าง และคุณค่าทางสถาปัตยกรรมแล้ว อาคารมูลนิธิน้ำใจไทย-ญี่ปุ่น ไม่ถือเป็นโบราณสถาน ตามพ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

อาคารมูลนิธิน้ำใจไทย-ญี่ปุ่น ไม่เข้าข่ายโบราณสถาน

สำหรับสิ่งก่อสร้างที่เป็นโบราณสถานภายในวัดยานนาวา กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนแล้ว
ตามราชกิจจานุเบกษา เล่ม 100 ตอนที่ 36 วันที่ 15 มี.ค.2526 มีสิ่งสำคัญ ได้แก่ พระแท่นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เรือสำเภาและเจดีย์ พร้อมด้วยแผ่นศิลาจารึก 3 แผ่น พระอุโบสถ และเก๋งจีน เนื้อที่โบราณสถานประมาณ 5 ไร่ 97 ตารางวา โดยอาคารมูลนิธิน้ำใจไทย-ญี่ปุ่น ไม่อยู่ในขอบเขตโบราณสถานที่ประกาศขึ้นทะเบียน

อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า กรมศิลปากรได้ดำเนินการตรวจสอบกรณีรื้อถอนสิ่งก่อสร้าง ภายในวัดยานาวา ครั้งล่าสุดเมื่อเดือนเม.ย.2563 ตามที่คณะพระภิกษุวัดยานนาวา พระอารามหลวง มีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ขอให้ดำเนินการคุ้มครองโบราณวัตถุสถานกุฏิสงฆ์ และอาคารโรง เรียนพระปริยัติธรรม ของวัดยานนาวา ตามพ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

ผลการตรวจสอบพบว่ากลุ่มอาคารที่ถูกกล่าวถึงทั้งหมดนั้น ไม่ได้เป็นโบราณสถาน และไม่อยู่ในขอบเขตที่ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน

กรมศิลปากร จึงมีหนังสือไปถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมเพื่อแจ้งวัดยานนาวาทราบ จนกระทั่งมีกรณีการรื้อถอนอาคารภายในวัดอีกครั้งตามที่เป็นข่าวเมื่อวันที่ 6 มี.ค.ที่ผ่านมา  

 

Next Post

ไฟฟ้าดับ "สมุย-พะงัน" ร.ล.อ่างทอง ทอดสมอโดนสายเคเบิลใต้ทะเล

อังคาร มี.ค. 9 , 2021
อ.เกาะสมุย และ อ.เกาะพะงัน เผชิญวิกฤตไฟฟ้าดับ หลังสายเคเบิ้ลใต้ทะเลชำรุดเสียหาย ไม่สามารถส่งกระแสไฟฟ้าจาก อ.ขนอม มาเกาะสมุยได้ คาดซ่อมแซม 2 สัปดาห์ ขณะที่กองทัพเรือเร่งตรวจสอบ ยืนยันไม่ปฏิเสธความรับผิดชอบหากพบสาเหตุจากเรือหลวงอ่างทองทอดสมอถูกสายเคเบิ้ล วันนี้ (8 มี.ค.2564) นายจักรกฤษณ์ มีเดช ผู้จัดก […]