ผู้ค้าตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาคร ร้อง “อลงกรณ์” ช่วยผลักดันออกอนุญาตส่งออกกุ้ง หลังหลายประเทศยังไม่เชื่อมั่นกุ้งไทยปลอด COVID-19 หลังเปิดตลาด 4 วันผู้ค้าหาย-ยอดขายลดเหลือแค่ 50% สสจ.สมุทรสาคร กำชับการซื้อขายต้องคุมเข้มความปลอดภัย
วันนี้ (4 มี.ค.2564) นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะลงพื้นที่มาติดสถานการณ์ซื้อขายกุ้ง ในช่วงที่ยังต้องใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาด COVID-19 มีนายสุรศักดิ์ ผลยังส่ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร นพ.นเรศฤทธิ์ ขัดธะสีมา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร สมาคมการประมงสมุทรสาคร และผู้แทนเจ้าของแพกุ้ง–แพปลา ในตลาดกลางกุ้งร่วมลงพื้นที่ด้วย
นายอลงกรณ์ กล่าวว่า ได้รับมอบหมายจากนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้มาติดตามสถานการณ์ รวมถึงผลกระทบต่อสินค้าภาคการประมง ที่ตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาคร โดยเห็นว่าตลาดกลางกุ้ง เป็นแหล่งศูนย์กลางค้าขายกุ้งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ ที่ผ่านมาผู้ค้า ผู้ประกอบธุรกิจแพกุ้ง ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 แต่วันนี้กลับมาเปิดค้าขายแล้ว แม้ยังไม่คึกคักเต็มที่นัก
ผู้ค้าหาย-ยอดขายลดเหลือแค่ 50%
ขณะที่ภาพรวมตลาดกลางกุ้ง จากเดิมมีเจ้าของแพกุ้งประมาณ 20 ราย และผู้ค้ารายย่อยกว่า 50 ราย ที่เช่าแพค้าขาย ซึ่งก่อนการระบาดเมื่อ 17 ธ.ค.2563 ตลาดกลางกุ้ง มีรายได้หมุนเวียนวันละกว่า 50 ล้านบาท แต่ปัจจุบันหลังกลับมาเปิดตลาดกลางกุ้งเพื่อค้าขายเมื่อวันที่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีเจ้าของแพกุ้งเหลืออยู่ประมาณ 10 กว่าราย
ส่วนผู้ค้ารายย่อยอีกราวๆ 20 ราย ส่วนที่หายไปนั้นได้ไปเปิดทำการค้าขายที่อื่นแล้ว ทำให้เงินหมุน เวียนในตลาดกลางกุ้งลดลงไปด้วยเหลือเพียงแค่ 50% หรือประมาณ 20 ล้านบาทต่อวัน
ส่วนแรงงานข้ามชาติของแต่ละแพ ก็ยังคงมีการจ้างงานเหมือนเดิม โดยแต่ละแพใช้แรงงานประมาณ 40–50 คน แต่ทุกแพได้จ้างงานแรงงานข้ามชาติที่ถูกต้องตามกฎหมาย
กำชับคุมเข้ม COVID-19 การ์ดห้ามตก
ด้านนพ.นเรศฤทธิ์ กล่าวว่า การซื้อขายของผู้ประกอบการ ที่มีลักษณะเป็นตลาด มีการพบปะของผู้คนหลากหลาย ยังคงขอให้ย้ำมาตรการตามหลักสาธารณสุข ทั้งการสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา การขอให้ผู้ประกอบการช่วยสื่อสารให้แรงงานข้ามชาติเข้าใจในหลักปฎิบัติทางสาธารณสุข เพื่อช่วยกันลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต หรือโรคระบาดอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ ก่อนที่ตลาดกลางกุ้งจะกลับมาเปิดให้บริการ ทางสาธาณสุขได้เข้ามาดูเกี่ยวกับความพร้อมต่างๆ จนเห็นว่าสามารถเปิดได้แล้ว
ต่อจากนี้เป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการ แรงงานที่ต้องช่วยกันดูแล เพื่อความมั่นใจของผู้ค้าที่มาจากที่อื่น เนื่องจากเป็นตลาดที่มีการซื้อขายจากผู้ซื้อที่แวะเวียนมาจากหลากหลายจังหวัดเช่นกัน
ขณะที่ผู้ประกอบการตลาดกลางกุ้ง บางรายให้ข้อมูลว่า การกลับมาเปิดตลาดใหม่รอบนี้ อาจยังเงียบอยู่บ้าง ส่วนหนึ่งมาจากความยังไม่แน่ใจในราคากลางของราคากุ้งในช่วงนี้ รวมถึงการเดินทางเข้าออกข้ามจังหวัดของจ.สมุทรสาคร ที่ยังต้องใช้ใบผ่านข้ามจังหวัดอยู่ แต่มีประเด็นที่ฝากกระทรวงเกษตรฯ และ รัฐบาลให้ช่วยคือ การออกใบอนุญาตเพื่อการส่งออก ให้แก่เกษตรกรกุ้งก้ามกราม และปลากะพงขาวในพื้นที่ภาคกลาง
เนื่องจากมีเกษตรกรเพาะเลี้ยงกุ้งก้ามกราม และปลากะพงขาวเป็นจำนวนมาก จึงอยากขอให้ช่วยเพิ่มจำนวนโควต้าของใบ GAP ให้แก่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งก้ามกรามและปลากะพงขาวให้ครอบคลุมทุกจังหวัดในพื้นที่ภาคกลาง เพื่อเป็นมาตรฐานในการส่งออกและการค้าระดับสากล
รวมถึงต้องการให้รัฐบาลช่วยสร้างความเข้าใจต่อผู้ซื้อในประเทศและต่างประเทศ เลิกกีดกันสินค้าสัตว์น้ำ โดยเฉพาะกุ้งจาก จ.สมุทรสาคร หรือประเทศไทย ซึ่งอยากให้มั่นใจว่าอาหารทะเลไทยปลอดภัย