“อนุทิน” ยืนยันไม่ปิดกั้นโรงพยาบาลเอกชน นำเข้าวัคซีน COVID-19 ได้ ภายใต้เงื่อนไขต้องผ่านการขึ้นทะเบียนวัคซีนกับทางอย.ก่อน เบื้องต้น ยื่นขอแล้ว 4 ราย อีก 2 รายคือแจนเซ่น-ซีแลก จำกัด และวัคซีนของบริษัท บารัต ไบโอเทค อยู่ระหว่างการตรวจสอบเอกสาร
วันนี้ (8 มี.ค.2564) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข เผยผลการหารือร่วมกับภาคเอกชนในการนำเข้าวัคซีน COVID-19 โดยสรุปให้ ภาคเอกชนนำเข้าวัคซีน COVID-19 ได้ภายใต้เงื่อนไขตามข้อกำหนดว่าวัคซีนต้องผ่านการขึ้นทะเบียน กับทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก่อน ซึ่งเป็นเรื่องดีที่จะช่วยกระจายวัคซีน และให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนให้ได้มากที่สุด
ยืนยันรัฐบาลไม่มีนโยบายปิดกั้นภาคเอกชนนำเข้า และใช้วัคซีน COVID-19 ขณะนี้มีผู้ยื่นขอขึ้นทะเบียนแล้ว 4 ราย ส่วนกรณีโรงพยาบาลเอกชนที่ได้รับอนุญาตนำเข้ายาอยู่แล้ว หากประสงค์จะนำเข้าวัคซีน ให้มาขอขึ้นทะเบียนวัคซีนอีกครั้ง เป็นหลักปฏิบัติสากล
นายอนุทิน กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขยินดี และขอบคุณภาคเอกชนที่เข้ามามีส่วนร่วมดูแลสุขภาพประชาชน พร้อมอำนวยความสะดวกและสนับสนุนเต็มที่ เป็นการแบ่งเบาภาระรัฐบาล ช่วยให้การกระจายวัคซีนทั่วถึง ทำให้กระทรวงสาธารณสุขมีโอกาสไปดูแลประชาชนในส่วนที่จำเป็น
อ่านข่าวเพิ่ม สธ.เตรียมรับวัคซีน “แอสตราเซเนกา” ส่งกรมควบคุมโรคตรวจสอบ
ขอนำเข้าวัคซีน COVID-19 รอตรวจเอกสาร 2 ราย
ด้านนพ.เฉลิม หาญพานิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ขอบคุณรัฐบาลที่เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนนำเข้าวัคซีนได้ ซึ่งขณะนี้โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่ง มีความพร้อมที่จะนำเข้าวัคซีนผ่านทางบริษัทผู้นำเข้า และจะขอยื่นจดทะเบียนเบื้องต้น ยื่นขอขึ้นทะเบียนวัคซีน COVID-19 กับอย.แล้วจำนวน 4 ราย ได้แก่ วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ของบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด และโคโรนาแวค ของบริษัท ซิโนแวค นำเข้าโดยองค์การเภสัชกรรม ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนแล้วทั้ง 2 ราย และอีก 2 ราย ได้แก่ วัคซีนของจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน โดยบริษัท แจนเซ่น-ซีแลก จำกัด และวัคซีนของบริษัท บารัต ไบโอเทค เทคโนโลยี โดยบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด อยู่ระหว่างการตรวจสอบเอกสารขึ้นทะเบียน
สำหรับขั้นตอนการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ COVID-19 ในสถานการณ์ฉุกเฉิน จะใช้เวลาประมาณ 30 วัน นับตั้งแต่การประเมินวิชาการถึงการอนุมัติ โดยมีขั้นตอนดังนี้ 1.ให้ยื่นคำขอใบอนุญาตสถานประกอบการด้านยา โดยต้องมีสำนักงาน มีสถานที่เก็บยา มีเภสัชกรประจำ 2.ยื่นคำขอหนังสือรับรองมาตรฐานสถานที่ผลิตยา ซึ่งจะต้องผ่านการตรวจสอบความครบถ้วนของเอกสารคำขอขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด19 ผ่านการประเมินวิชาการ ด้านคือ คุณภาพ ความปลอดภัย ประสิทธิผล และแผนการจัดการความเสี่ยงของวัคซีน ผ่านที่ประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด19 ทั้งนี้ ขั้นตอนตั้งแต่การประเมินวิชาการถึงการอนุมัติจะใช้เวลาประมาณ 30 วัน
อย่างไรก็ตาม ในการประชุมครั้งนี้ ผู้แทนสภาหอการค้าและสภาอุตสาหกรรม ได้กล่าวยืนยันพร้อมจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการฉีดวัคซีนโควิด 19 ให้กับแรงงานภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้เศรษฐกิจประเทศเดินหน้าไปได้
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
รอ “นายกรัฐมนตรี” ประเดิมฉีดเข็มแรกแอสตราเซเนกา 11 มี.ค.