เริ่มแล้ว! อภ.ทดสอบวัคซีน COVID-19 ในคน ระยะ 1-2

องค์การเภสัชกรรมเริ่มทดสอบวัคซีน COVID-19 ชนิดเชื้อตายในคนแล้ว โดยการทดสอบ 2 ระยะแรกจะทำให้ได้สูตรวัคซีน COVID-19 ในปลายปีนี้ เพื่อนำไปศึกษาต่อในระยะที่ 3 คาดผลิตเชิงอุตสาหกรรมได้ในปี 2565

วันนี้ (22 มี.ค.2564) องค์การเภสัชกรรมร่วมกับคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล พัฒนาวิจัยวัคซีน COVID-19 ชนิดเชื้อตายในมนุษย์ ระยะที่ 1 และ 2 เริ่มฉีดอาสาสมัครกลุ่มแรก 460 คน โดยทุกคนต้องมีสุขภาพแข็งแรง ไม่เคยติดเชื้อ COVID-19 ไม่มีประวัติแพ้ยาหรือวัคซีน โดยแบ่งการศึกษาวิจัยเป็น 2 ระยะ ระยะที่ 1 จำนวน 210 คน อายุ 18-59 ปี ซึ่งจะศึกษาในอาสาสมัคร 18 คนก่อน เริ่มด้วยวัคซีนขนาดต่ำสุดแล้วค่อย ๆ เพิ่มขนาดขึ้น

ส่วนที่ 2 ศึกษาในอาสาสมัคร 192 คน วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อเลือกให้ได้ขนาดหรือสูตรวัคซีนวิจัย 2 สูตร นำไปวิจัยต่อในระยะที่ 2 ประมาณเดือน ก.ค. ซึ่งเป็นการศึกษาวิจัยในอาสาสมัครอายุ 18-75 ปี จำนวน 250 คน คาดว่าจะทราบผลปลายปีนี้

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุขและประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม ระบุว่า สถาบัน PATH สหรัฐอเมริกา ได้ส่งหัวเชื้อไวรัสตั้งต้นมาให้วิจัยพัฒนาวัคซีน ตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งมีการตัดแต่งพันธุกรรมไวรัสนิวคาสเซิล ให้มีโปรตีนส่วนหนามของไวรัส COVID-19 จึงมีความปลอดภัย ไม่ก่อให้เกิดโรค เพิ่มจำนวนในไข่ไก่ฟักได้

ด้าน นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการเภสัชกรรม ระบุว่า อภ.ยังมีแผนรองรับเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ โดยได้รับความร่วมมือจากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ เบื้องต้น นำวัคซีนตัวนี้ทดสอบในหลอดทดลองว่าครอบคลุมเชื้อกลายพันธุ์แอฟริกาใต้หรือไม่ ซึ่งพบว่าได้ผลดี จึงเตรียมทดสอบในสายพันธุ์อื่น ที่มีไวรัสกลายพันธุ์ในตำแหน่งที่สำคัญ เช่น สายพันธุ์บราซิลและอังกฤษ

ทั้งนี้ องค์การเภสัชกรรมยังพร้อมผลิตวัคซีนในทันที ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากคณะกรรมการอาหารและยา คาดว่าภายในปี 2565 จะขอรับทะเบียนตำรับและเริ่มผลิตวัคซีนได้ มีกำลังการผลิต 25-30 ล้านโดสต่อปี

 

Next Post

MC and NTT to Establish DX Joint Venture

อังคาร มี.ค. 23 , 2021
TOKYO, Mar 23, 2021 – (JCN Newswire via SEAPRWire.com) – Mitsubishi Corporation (MC) and Nippon Telegraph and Telephone Corporation (NTT) are pleased to announce their decision to establish a new joint venture company that will provide cross-industry Digital Transformation (DX) services […]